ที่มาโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเทศไทย

          กระทรวงมหาดไทยกำหนดนโยบายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564ว่า “ประเทศไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
          กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ดำเนิน โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 โดยให้จังหวัดส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนการจัดทำถังขยะเปียกให้ครบทุกครัวเรือน รวมถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมการคัดแยกขยะครัวเรือน ลดการปนเปื้อนขยะเปียกกับของเหลือใช้อื่นๆ สร้างรายได้เพิ่มจากการคัดแยกขยะ ลดภาระค่าใช้จ่ายโดยการใช้ปุ๋ยหมักที่เกิดจากถังขยะเปียก เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตลอดจนลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
          กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจในประเทศไทย หรือ Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการและกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบการขึ้นทะเบียนโครงการฯ โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้พัฒนาหรือเจ้าของโครงการ ประกอบด้วยครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ 36,644,309 ครัวเรือน โรงเรียน 1,701 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 18,935 แห่ง โดยมีระยะเวลาคิดเครดิตของโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2569 หรือระยะเวลา 7 ปี และคาดว่าจะสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 492,212 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
          สำหรับการดำเนินโครงการฯ ในระยะต่อไป กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินโครงการฯ ในระยะต่อไป ดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 การจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานถังขยะเปียกลดโลกร้อน (ครัวเรือน โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) โดยจัดเก็บข้อมูลจำนวนประชากรในครัวเรือน เด็กเล็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดทำถังขยะเปียกในระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอย ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำข้อมูลไปคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจก และรับรองคาร์บอนเครดิต
  • ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมการรับการทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนในระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้กลไกคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลมูลฝอยในระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการดำเนินงานเชิงรุกของทีมปฏิบัติการเตรียมความพร้อมสำหรับรับการทวนสอบ ระดับอำเภอในพื้นที่ตำบล... เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการบริหารจัดการถังขยะเปียกลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้การทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะดำเนินการจัดประชุมซักซ้อมกับหน่วยงานในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น เพื่อเตรียมการรับการทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก (VBB) ตลอดจนกำหนดแนวทางซักซ้อมการทวนสอบผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนคณะทำงานที่ได้รับมอบหมายจะมีการลงพื้นที่ในจังหวัดนำร่องเพื่อซักซ้อมแนวทางปฏิบัติกับหน่วยงานในพื้นที่ ในการเตรียมความพร้อมในการรับการทวนสอบ
  • ขั้นตอนที่ 3 การรับรองคาร์บอนเครดิต เป็นขั้นตอนที่ดำเนินการโดยผู้ประเมินภายนอก หรือ VBB ซึ่งจะลงพื้นที่ทวนสอบข้อมูล โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีเอกสารใบสมัครการเข้าร่วมโครงการ ตลอดจนทะเบียนครัวเรือน โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่จัดทำถังขยะเปียกเพื่อรวบรวมให้ผู้ประเมินภายนอกเป็น ผู้ทวนสอบ ทั้งนี้ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทวนสอบแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการรับรองคาร์บอนเครดิตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่
  • ขั้นตอนที่ 4 การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในกระบวนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้น กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะกำหนดแนวทางซักซ้อม และจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต แนวทางการบริหารจัดการกรรมสิทธิ์คาร์บอนเครดิต และการจัดทำบัญชีควบคุมคาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ กระบวนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตข้างต้นจะต้องดำเนินการภายใต้ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อรักษาผลประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนำรายได้ที่ได้จากการขายคาร์บอนเครดิตไปจัดสาธารณประโยชน์ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป