ที่มา ศจพ.


          ด้วยรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนของประชาชนในทุกมิติ
เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุกช่วงวัย นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เพื่อเป็นกลไกเชิงนโยบาย ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาคนทุกช่วงวัย เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการเป็นรูปธรรมและยั่งยืนได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยใช้ระบบ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) ซึ่งเป็นระบบ Big Data ของภาครัฐที่สามารถระบุได้ว่ากลุ่มเป้าหมายนั้นอยู่ที่ไหน มีปัญหาในมิติอะไรบ้าง เช่น การศึกษา สุขภาพ ความเป็นอยู่ การเข้าถึงบริการภาครัฐ การเงิน ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์กับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้สามารถออกนโยบายแก้ปัญหาได้ตรงจุด เพื่อนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ได้อย่างเป็นรูปธรรม

          รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)
ในระดับพื้นที่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายและซักซ้อมแนวทางปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด นายอำเภอ รวมถึงทีมขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีเป้าหมายคือ “การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน” หรือ “การตัดเสื้อให้พอดีตัว” โดยให้ทุกจังหวัดใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้าหรือ TPMAP เป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเน้นย้ำการแก้ไขปัญหาความยากจนให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอ ซึ่งนายอำเภอต้องมีบทบาทสำคัญในการบูรณาการส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอำเภอแก้ไขปัญหาด้วยการนำแนวทางจากเมนูแก้จน 5 ด้านจาก TPMAP ได้แก่ 1) สุขภาพ 2) ความเป็นอยู่ 3) การศึกษา 4) ด้านรายได้ และ 5) การเข้าถึงบริการภาครัฐ และแบ่งเป้าหมายการแก้ไขปัญหาเป็น 3 ระดับ ได้แก่ อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องกำกับติดตาม “ทีมพี่เลี้ยง” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้รับการแก้ไขแบบพุ่งเป้า เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยต้องแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ก.ย. 65 นี้ ทั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำในการสร้างความเข้าใจกับศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทุกระดับว่า "“ความยากจน” คือ ความเดือดร้อนของประชาชนในทุกเรื่องที่ประชาชนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้” ซึ่งเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำในตอนนี้ อันถือเป็น “กระดุมเม็ดแรก” คือ ต้องสำรวจผู้ได้รับความเดือดร้อนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้ครบถ้วน โดยกรมการปกครองได้พัฒนาระบบ Thai QM เป็นเครื่องมือให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในพื้นที่ภายใต้การกำกับดูแลของนายอำเภอ สำรวจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่มิติด้านรายได้เท่านั้น แต่ครอบคลุม “ความเดือดร้อนทุกเรื่อง” เช่น บ้านที่อยู่อาศัยไม่มีทะเบียนบ้าน ปัญหายาเสพติด เงินกู้นอกระบบ การไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน หรือไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีในพื้นที่ต้องเป็นแม่ทัพในการขับเคลื่อนการศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้บรรลุเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน “การแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวาระแห่งชาติ วาระจังหวัด วาระอำเภอ และเป็นวาระแห่งชีวิตของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกคนที่ต้องมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเทขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยบูรณาการกลไก/เครือข่ายในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา ด้วยแนวทาง 2 มิติ คือ “มิติยาฝรั่ง” ทำให้อยู่รอด ไม่เดือดร้อน ทำให้มีบ้าน ได้เรียนหนังสือ มีปัญหาขอรับความช่วยเหลือได้ทันที โดยส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ แก้ไขปัญหา และ“มิติยาไทย” ที่มุ่งให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องเน้นย้ำสร้าง “ทีมที่จริงใจ” เพื่อร่วมแก้ปัญหาความเดือดร้อนและช่วยเหลือประชาชนที่มีความเดือดร้อนในพื้นที่ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการติดตามผลการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้กลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และปัญหา อุปสรรค ให้กระทรวงทราบทุกเดือน และได้มอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด รับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 เพื่อส่งต่อข้อมูลให้ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับต่าง ๆ ในพื้นที่ พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนรับทราบช่องทางการแจ้งปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว”


ที่มา